รายละเอียดกิจกรรม
กิจกรรมเด่นในโครงการ EYH 2015 ในประเทศไทย ปีนี้นอกจากจะปรับเปลี่ยนรูปแบบจากค่าย One day Camp เป็นค่ายวิทยาศาสตร์ ค้างคืน 2 วัน 1 คืน แล้ว ยังมุ่งเน้นการออบแบบกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมแบบบูรณาการ STEM (Science, Technology, Engineering and Mathematics) และกิจกรรมที่มุ่งแก้ไขปัญหาที่พบเห็นในชีวิตจริง เพื่อสร้างเสริมประสบการณ์ ทักษะชีวิต ความคิดสร้างสรรค์ นำไปสู่การสร้างนวัตกรรม โดยหยิบยกเอาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อมในเรื่องใกล้ตัวมาให้เด็กๆ ได้ทำการทดลองและพิสูจน์ความจริงกันด้วยตัวเอง แล้วนั้น ในปีนี้ยังมีเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในวงการวิทยาศาสตร์ คือ สหประชาชาติ ได้ประกาศให้ปี 2558 เป็นปีสากลแห่งแสง (The International Year of Light 2015) เพื่อสร้างความตระหนักให้เยาวชน นักวิชาการ และบุคคลทั่วไป เข้าใจถึงความสำคัญของเทคโนโลยีแสง (Photonics Technology) ที่ส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน และแก้ปัญหาทั้งด้าน พลังงาน การศึกษา การสื่อสาร และสุขภาพ ทางทีมงานจึงถือเป็นโอกาสดีในการร่วมเฉลิมฉลองปีแห่งแสงสากล (The International Year of Light) ผ่านฐานกิจกรรมวิทยาศาสตร์หลากหลายกิจกรรมที่ร้อยเรียงความรู้ทางแสงเข้าไว้ด้วยกัน
ซึ่งกิจกรรมแรกคือการสร้างแรงบันดาลใจในการเป็นนักบินอวกาศ ซึ่งต้องเดินทางใกล้กับความเร็วของแสงผ่านประสบการณ์ของ คุณพิรดา เตชะวิจิตร์ วิศวกรดาวเทียม สำนักพัฒนาอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) นักบินอวกาศหญิงไทยคนแรก จากโครงการ AXE Apollo Space Academy ผ่านช่องทางการแข่งขันรายการ “แฟนพันธุ์แท้ Apollo” และได้รับสิทธิ์ให้เป็น 1 ใน 3 คนไทยที่ได้เข้าร่วมโครงการ AXE Global Space Camp ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา
ในส่วนกิจกรรม Workshop แบ่งกิจกรรมปฏิบัติการเรียนรู้ออกเป็น 3 หมวด ต่างๆ ดังนี้
1. หมวด“ปฏิบัติการเรียนรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์”
Catapult พิชิตหัวใจ K-Pop: เรียนรู้และใช้ทักษะทางคณิตศาสตร์ในการคำนวณและสร้างเครื่องมือทางการรบที่สำคัญ “Catapult” เครื่องยิงก้อนหินของนักรบโบราณซึ่งเคยถูกใช้พิชิตกำแพงเมืองทรอยมาแล้ว
กลคณิตคิดได้ไง: สนุกสนามไปกับกลไพ่ขั้นเทพ พร้อมทั้งได้รู้เคล็ดลับว่าทำไมคณิตศาสตร์พื้นฐานง่ายๆ สามารถสร้างกลไพ่สุดเจ๋งได้
ศิลปะการพับกระดาษกับคณิตศาสตร์: ใช้ความคิดสร้างสรรค์ความรู้ทางคณิตศาสตร์ ประกอบเทคนิคการตัดกระดาษ การพับกระดาษแล้วสอด (Origami) เพื่อให้ได้ทรงเรขาคณิตในแบบต่าง ๆ
2. หมวด“ปฏิบัติการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และคอมพิวเตอร์”
นักสืบนิติวิทยาศาสตร์: ศึกษาวิธีการระบุตัวผู้ต้องสงสัย เทคนิคต่างๆในการเก็บรวบรวมหลักฐานและสนุกกับการทดลองด้วยตัวเองกับเรื่องลับๆ กับนิติวิทยาศาสตร์ และความลับของแสงชนิดต่างๆ ที่ใช้ในการสืบหาหลักฐาน
เรียนรู้วิทยาศาสตร์จากการ์ตูนญี่ปุ่น: สิ่งต่างๆ รอบตัวเราล้วนแต่เป็นเคมีทั้งสิ้น เยาวชนจะได้ทดลองผสมสารเคมีแต่ละชนิดเข้าด้วยกันพร้อมศึกษาคุณสมบัติทางเคมี ที่เปลี่ยนแปลงไปผ่านลูกบอลกาวมหัศจรรย์
กล้อง Origami Spectrometer จากอะตอมถึงดวงดาว: เรียนรู้การประดิษฐ์ origami spectrometer อย่างง่าย ซึ่งสามารถทำขึ้นมาเองได้ในราคาถูก และใช้อุปกรณ์ที่ประดิษฐ์ขึ้นทำการสังเกตและทำความเข้าใจธรรมชาติของแสง โครงสร้างอะตอม และการบอกองค์ประกอบของดวงดาว
เรียนรู้การทำ Infographic อย่างง่ายได้ด้วยตนเอง: เปลี่ยนวิธีการสื่อสารของคุณให้เข้าใจง่ายด้วย Infographic: การแสดงข้อมูลหรือความรู้ที่ผ่านการสรุปย่อเป็นแผนภาพ เพื่อให้เนื้อหาหรือข้อมูลที่ต้องการนำเสนอสามารถอ่านและเข้าใจได้ง่าย ดึงดูดความสนใจ และเสริมภาพลักษณ์ความเป็นคุณ
3. หมวด“ปฏิบัติการเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อม”
โลกป่วย!!! LCA ช่วยได้ (ไหม): โลกกำลังแย่ ลดปัญหาและเสริมความแข็งแกร่งให้กับสิ่งแวดล้อมโลกด้วย LCA: Life Cycle Assessment : วิเคราะห์และประเมินค่าผลกระทบของผลิตภัณฑ์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อม
รู้ทันพิบัติภัย: เตรียมพร้อมรับมือภัยธรรมชาติ ผ่านการทดลองวิทยาศาสตร์ พร้อมรับชุดกิจกรรมเรียนรู้ระดับประถมศึกษา เรื่อง รู้รับ... ภัยพิบัติทางธรรมชาติ
สนุกเรียน สนุกคิดกับวิทยาศาสตร์ แบบกล้วยๆ: สนุกกับการเรียนรู้ประโยชน์ของกล้วย ฝึกฝนการสังเกต สงสัย คาดเดา พร้อมการทดลองสุดสนุก
Amazing of Engineer: ได้เรียนรู้และทำความเข้าใจถึงหลักการทางวิศวกรรมกับการใช้ชีวิตประจำวัน
หมายเหตุ: ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถเลือกกิจกรรมในแต่ละหมวดได้ หมวดละ 1 กิจกรรม
นอกจากนี้ ในปีนี้ยังจัดให้น้องๆ ได้เยี่ยมชมสถานที่ปฏิบัติงานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แก่
1. สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) อาคารสิรินธรวิชโชทัย
เลขที่ 111 ถนนมหาวิทยาลัย ตำบลสุรนารี อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
2. อุทยานผีเสื้อเฉลิมพระเกียรติ สำนักงานการเรียนรู้สิรินธร เทคโนธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
อาคารสุรพัฒน์ 1 เลขที่ 111 ถนนมหาวิทยาลัย ตำบลสุรนารี อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
และยังมีกิจกรรมเสริมให้น้องๆ ได้ฝีกฝนความเป็นนักดาราศาสตร์ โดยพาร่วมกิจกรรม“อะไรอยู่บนฟ้า” หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการในปีนี้ ถือว่าครบรส ทั้งสัมผัส เรียนรู้ และเปิดประสบการณ์ ในหน่วยงานทางวิทยาศาสตร์ ภายในค่ายเดียวพร้อมทั้งยังได้เพื่อนใหม่กลับบ้านด้วย
- 3794 reads