เด็กไทยไม่แพ้ใครในโลก!!! คว้าสุดยอดรางวัลใหญ่จากเวทีการแข่งขันโครงงานทางวิทยาศาสตร์ระดับโลก Intel ISEF 2011

          เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2554 ณ Los Angeles, California, USA ตลอดระยะเวลากว่า 1 สัปดาห์ของการแข่งขันประกวดโครงงานทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมระดับโลก Intel International Science and Engineering Fair หรือ Intel ISEF 2011 ที่จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 8-13 พฤษภาคม 2554 ณ Los Angeles Convention Center, Los Angeles, California, USA ซึ่งในปีนี้ถือได้ว่าเป็นการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ที่ได้รวบรวมนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์จำนวนกว่า 1,545 คน จาก 65 ประเทศทั่วโลก โดยมีเงินรางวัลมูลค่าสูงถึง 4 ล้านเหรียญสหรัฐ         

         และในปีนี้ตัวแทนเยาวชนจากประเทศไทยก็ไม่ทำให้คนไทยทั้งประเทศผิดหวัง เพราะสามารถคว้ารางวัลสูงสุดในการประกาศผลรางวัล Grand Award ในเวที Intel ISEF 2011 ในวันนี้ นั่นคือ รางวัล Intel Foundation Young Scientist Awards ซึ่งมีมูลค่าเงินรางวัลสูงถึง 50,000 เหรียญสหรัฐ โดยเป็นรางวัลที่ บริษัท Intel และสมาคม Society for Science and the Public ประเทศสหรัฐอเมริกาคัดเลือกสุดยอดโครงงานที่ดีที่สุดในการแข่งขันครั้งนี้ เพียง 2 โครงงาน ซึ่งหนึ่งในผู้ที่ได้รับรางวัลนี้คือ ตัวแทนเยาวชนจากประเทศไทย ได้แก่ นายพรวสุ พงศ์ธีระวรรณ นางสาวธัญพิชชา พงศ์ชัยไพบูลย์ และนางสาวอารดา สังขนิตย์ ผู้พัฒนา "โครงงานพลาสติกจากเกล็ดปลา (Bio-Based Packaging Plastics from Fish Scale)" จากโรงเรียนสุราษฎร์พิทยา อาจารย์ที่ปรึกษา คือ อาจารย์เฉลิมพร พงศ์ธีระวรรณ และอาจารย์สุวารี พงศ์ธีระวรรณ นับเป็นครั้งแรกที่เยาวชนจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับรางวัลนี้ ซึ่งโครงงานนี้เป็นโครงงานที่สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรม ราชูปถัมภ์ คัดเลือกเข้าร่วมประกวดในเวที Intel ISEF

          นอกจากนี้โครงงานดังกล่าวยังได้รับรางวัล Intel Best of Catagory Awards ในสาขา Environmental Management ซึ่งมีมูลค่าเงินรางวัล 5,000 เหรียญสหรัฐ และได้รับรางวัล Grand Awards อันดับที่ 1 ในสาขาเดียวกัน มูลค่าเงินรางวัล 3,000 เหรียญสหรัฐ ซึ่งชื่อของเยาวชนไทยทั้ง 3 คนนี้จะได้รับเกียรติให้นำไปตั้งเป็นชื่อดาวเคราะห์น้อย (Minor Planet) โดย Massachusetts Institute of Technology - Lincoln Laboratory, Ceres Connection

          และยังมีอีกหนึ่งโครงงานจากประเทศไทยที่คว้ารางวัล Grand Awards อันดับที่ 4 ในสาขา Engineering - Materials and Bioengineering มูลค่าเงินรางวัล 500 เหรียญสหรัฐ  ได้แก่ นายธนทรัพย์ ก้อนมณี นางสาววรดา จันทร์มุข และนายนรินธเดช เจริญสมบัติ ผู้พัฒนาโครงการ "ผลของฟิล์มมิวซิเลจจากเมล็ดแมงลักต่ออการยืดอายุการเก็บรักษาชมพู่หลังการเก็บเกี่ยว (Utilization of Mucilage Derived from Lemon Basil Seeds as Coating Substance for Fruit Preservation)" จากโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี อาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์ศาสตรา พรหมอารักษ์ ซึ่งโครงงานนี้เป็นโครงงานที่ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) คัดเลือกเข้าร่วมประกวดในเวที Intel ISEF


          การแข่งขันประกวดโครงงานทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมระดับโลก Intel International Science and Engineering Fair หรือ Intel ISEF จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนพฤษภาคม โดยเยาวชนที่ชนะเลิศจากการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (Young Scientist Competiton: YSC) ของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งจะมีการประกวดในช่วงเดือนสิงหาคม และกุมภาพันธ์ของทุกปี

          นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของคนไทย ที่เยาวชนไทยสามารถแสดงศักยภาพให้ชาวโลกยอมรับในความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี